ใกล้ถึงเทศกาลตรุษจีนแล้ว ชาวไทยเชื้อสายจีนทั้งหลายก็ต้องเตรีมตัวซื้อของไหว้ หรือรับอั่งเปา 555 นอกจากเราจะรวบรวมความหมายดีๆของอาหารที่นำมาไหว้ตรุษจีนแล้ว (ตามลิ้งนี้นะ goddesszilla.com/foodiezilla) วันนี้เราจะมาพูดถึงวิธีปฏิบัติในการจัดโต๊ะไหว้เจ้าทั้ง 3 เวลา ซึ่งหลายๆคนก็ยังไม่ทราบว่า จะหันโต๊ะไปทางไหน วางอะไรก่อนอะไรหลัง และอาหารแต่ละอย่างควรมีจำนวนเท่าไหร่ มาดูกันค่ะ
ตำแหน่งของการวางอาหารบนโต๊ะไหว้เจ้า
แท้จริงแล้ววิธีจัดโต๊ะไหว้เจ้าตรุษจีนโดยทั่วไป ไม่ได้มีแบบแผนที่ชัดเจนเพราะทำสืบต่อกันมาเป็นเวลานานแล้ว จะขึ้นอยู่กับประเพณีและธรรมเนียมปฏิบัติของแต่ละตระกูล หรือ แต่ละเชื้อสายมากกว่า แต่วันนี้เรานำหนึ่งในแบบการจัดโต๊ะวันไหว้ของเทศการตรุษจีนที่เป็นที่นิยมกันมาให้ดูค่ะ ถ้าบ้านไหนไม่ได้มีแบบแผนบังคับไว้ ก็จัดตามนี้ได้เลยค่ะ การไหว้ในวันไหว้ เราจะทำ 3 ช่วงเวลาด้วยกัน
1 เวลาเช้ามืด : การไหว้เทพเจ้า ‘ไป๊เล่าเอี๊ย (拜老爺 / 拜老爷)’
1. วางโต๊ะไหว้ไว้ตรงหน้าเทวรูป หรือแท่นบูชา หรือนำเทวรูปวางบนโต๊ะเดียวกัน ในตำแหน่งหมายเลข 2 และมีกล่องวางรับน้ำหนักใน ตำแหน่งหมายเลข 3 ของภาพด้านบน
2. วางแจกันดอกไม้สดขนาบไว้ข้างซ้ายและขวา (ตำแหน่งหมายเลข 3 ของภาพด้านบน)
3. วางกระถางธูปไว้หน้าแท่นบูชา หรือเทวรูป จัดให้มีระยะห่างพอสมควร (ตำแหน่งหมายเลข 5 ของภาพด้านบน) ธูป 5 ดอกสำหรับไหว้เจ้าที่ (ตีจู่เอี๊ยะ) และธูป 3 ดอกสำหรับไหว้เทพเจ้าทั่วไป
4. วางเทียนแดงขาไม้ 1 คู่ ขนาบข้างซ้ายและขวาของกระถางธูป (ตำแหน่งหมายเลข 4 ของภาพด้านบน)
5. วางน้ำชา 5 ถ้วย วางเรียงแถวหน้ากระดานถัดออกมา (ตำแหน่งหมายเลข 6 ของภาพด้านบน)
6. วางเหล้า 5 ถ้วย วางเรียงแถวหน้ากระดานต่อจากน้ำชา หรือถ้าโต๊ะใหญ่ก็วางแถวเดียวกับน้ำชาได้ แต่คนละฝั่งกัน (ตำแหน่งหมายเลข 7 ของภาพด้านบน)
7. วางเครื่องคาว 5 อย่าง หรือที่เรียกว่า ‘โหงวแซ’ ใส่ไว้ในถาดเดียวกัน จัดให้ครบตามจำนวนเทพเจ้าที่คุณจะไปไหว้ (ชุดเล็ดก็มีนะ เครื่องคาว 3 อย่างที่เรียกว่า ‘ซาแซ’ อยากรู้รายละเอียดเพิ่มตามนี้เลย goddesszilla.com/foodiezilla) (ตำแหน่งหมายเลข 9 ของภาพด้านบน)
8. วางเครื่องหวาน
– ผลไม้ 5 อย่าง หรือที่เรียกว่า ‘โหวงก้วย’ ก็เป็นผลไม้ตามฤดูกาล 5 อย่าง แต่จะไม่ใช้มะม่วง (เพราะชื่อภาษาจีนมันแปลว่าซวย) แนะนำให้มีส้ม 1 อย่างส่วนที่เหลือแล้วแต่ความนิยมของแต่ละบ้าน และให้นับจำนวนผลให้เป็นเลขคู่ ใส่ไว้ในถาดเดียวกัน จัดให้ครบตามจำนวนเทพเจ้าที่คุณจะไปไหว้ (ตำแหน่งหมายเลข 8 ของภาพด้านบน)
-ขนม 5 อย่าง ประกอบไปด้วย ขนมเข่ง ขนมเทียน (ทั้ง 2 อย่างนี้เป็นขนมบังคับต้องมี) ขนมเค้ก ขนมถ้วยฟู ขนมเปี๊ยะ หรือขนมอะไรก็ได้ครับที่มีลักษณะฟูๆ และนับจำนวนชิ้นให้เป็นเลขคู่ ใส่ไว้ในถาดเดียวกันให้ได้ 5 อย่าง จัดให้ครบตามจำนวนเทพเจ้าที่คุณจะไปไหว้ (ตำแหน่งหมายเลข 10 ของภาพด้านบน)
9. ส่วนกระดาษเงินกระดาษทองให้ใช้ถาดชุดขนมวางทับไว้ หรืออาจจะวางในตำแหน่งที่ 12 ของภาพก็ได้
* น้ำชาและสุราต้องมีจำนวนถ้วยเท่ากัน
* เครื่องหวาน จำนวนต้องเท่ากัน เช่น ถ้ามีเครื่องคาว 5 ที่ ก็ต้องจัดเครื่องหวาน 5 ที่ และผลไม้ 5 ที่ (จำนวนเครื่องคาว-หวาน-ผลไม้ ไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับจำนวนน้ำชา น้ำดื่ม และเหล้า)
* ส่วนกรณีการไหว้เจ้าที่ หรือตี่จู่เอี๊ยนั้น อาจารย์วิศิษฎ์ เตชะเกษม ผู้ศึกษาค้นคว้าวัฒนธรรมจีนชื่อดังของเมืองไทย ได้แนะนำให้ใช้ข้าวสวย 5 ถ้วย ชา 5 ถ้วย ส้ม 5 ลูก หากจะมีของหวานก็ควรเลือกเป็น 5 ชิ้น หรือ 5 ชนิดเช่นกัน อันเป็นตัวแทนของธาตุทั้ง 5 คือ ดิน น้ำ ทอง ไม้ ไฟ
2 เวลา บ่าย : การไหว้บรรพบุรุษ ‘ไป๊เป้ป๊อ (拜父母)’
ข้อ 1 – 4 เหมือนเวลาเช้า ต่างกันตรงที่วางโต๊ะหันหน้าเข้าหาบรรพบุรุษ
5. วางน้ำชา ตามจำนวนบรรพบุรุษที่ไหว้ 1 ท่านต่อ 1 ถ้วย ตั้งก่อนถึงหมายเลข 1 ในภาพด้านบน
6. วางถ้วยสุรา ตามจำนวนบรรพบุรุษที่ไหว้ 1 ท่านต่อ 1 ถ้วย ตั้งต่อจากแถวน้ำชา แต่ก่อนถึงหมายเลข 1 ในภาพด้านบน
7. วางข้าวสวยเรียงแถวหน้ากระดาน ใส่ถ้วยพูนๆ พร้อมช้อนและตะเกียบ ตามจำนวนบรรพบุรุษ โดยให้ด้ามตะเกียบและด้ามช้อนหันไปที่รูปของบรรพบุรุษ (ตำแหน่งหมายเลข 1 ของภาพด้านบน)
8. กับข้าว 5 อย่างตั้งเรียงแถวหน้ากระดาน อะไรก็ได้นะครับที่อยากทาน หรือเป็นเมนูกับข้าวที่บรรพบุรุษชอบ แต่มีกับข้าวบังคับหนึ่งอย่างต้องเป็นแกงจืด เพราะหมายถึงความราบรื่น (ตำแหน่งหมายเลข 6 ของภาพด้านบน)
9. ตามด้วยถาดผลไม้และถาดขนม 5 อย่างวางอยู่ในแถวเดียวกัน (ตำแหน่งหมายเลข 7 9 ของภาพด้านบน ส่วนเลข 8 เป็นกุยฉ่าย ซึ่งจะมีหรือไม่มีก็ได้)
10. สุดท้ายจึงจะเป็นเครื่องกระดาษกงเต็กที่ต้องการจะส่งให้บรรพบุรุษ แต่ที่สำคัญต้องห้ามลืม ‘กิมจั้ว’ (กระดาษไหว้บรรพบุรุษ) และ ‘อวงแซจี้’ (ใบผ่านทาง)สีเหลืองๆ ส่วนการจุดธูปเทียนก็ ธูป 3 ดอก และเทียนแดงขาไม้ 1 คู่ ตามปกติเลย แต่ควรให้เกียรติผู้อาวุโสสูงสุดในตระกูลเป็นคนจุดธูปเทียนไหว้ก่อน (ตำแหน่งหมายเลข 10 ของภาพด้านบน)
3 เวลาเย็น : การไหว้บรรดาผีไร้ญาติ ‘ป้ายฮ่อเฮียตี๋ (拜好兄弟)’
การไหว้บรรดาผีไร้ญาติจัดเตรียมเหมือนของไหว้บรรพบุรุษทุกอย่าง แต่มากกว่า 1 เท่า
– ข้าวสวยใช้เป็นหม้อไม่ต้องตักใส่ถ้วย
– กับข้าวให้มาเป็นหม้อไม่ต้องตักใส่ถ้วย ช้อนตะเกียบเตรียมไว้ข้างๆ ไม่ต้องเรียงแบบไหว้บรรพบุรุษ
– เหล้าใช้เป็นขวด ตั้งบนโต๊ะได้เลย
– น้ำชาให้เปลี่ยนเป็นน้ำเปล่าเป็นขวด
เวลาไหว้ให้ไหว้นอกตัวบ้าน ปูเสื่อวางกับพื้น เวลาไหว้ไม่ต้องคุกเข่า ยืนไหว้ เมื่อไหว้เสร็จแล้วจะไม่เอาอาหารที่ไหว้มารับประทานอีก เพราะถือว่าให้เค้าเป็นทานไปแล้ว หลังจากเก็บของไหว้ให้สาดเกลือเม็ดกับข้าวสารให้ทั่วบริเวณบ้านด้วย เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีผีไร้ญาติตกค้างอยู่ที่บ้านเราโดยไม่ยอมกลับ
* เมื่อจุดธูปเทียนในพิธีไปประมาณ ครึ่งธูป หรือ อาจจะครึ่งชั่วโมง(แล้วแต่ธูปที่ซื้อมาระยะเวลาไม่เท่ากัน) ให้เผากระดาษเงินกระดาษทอง ซองธูปเทียนก็เผาเลย แล้วเก็บที่เหลือและเทน้ำชาลงไป
อุปกรณ์ที่ขาดไม่ได้เลย
เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่น่ารำคาญเป็นที่สุด และถ้าลืมเตรียมวิธีป้องกันเราก็อาจไม่กล้าที่จะกินอาหารที่เราไหว้เพราะกลัวท้องเสีย ยิ่งเมืองไทยฤดูกาลไม่แน่นอนเด่วหนาว เด่วร้อน เด่วฝน งั้นเราไปดูวิธีไล่แมลงวันกันเลย
คนไทยเชื้อสายจีนทางภาคใต้จะใช้กาวดักแมลงวันแบบแท่งตั้งไว้บนโต๊ะไหว้เจ้า พอแมลงวันบินมาก็จะติดอยู่อย่างนั่นไปไหนไม่ได้
หรือถ้าเราขยันหน่อย ก็ยืนปัดแมลงวัน ไม่ก็เอาไม้แบตไฟฟ้าปัด(อันนี้แอบโหด)
ที่ดีที่สุดคือแล็ปพลาสติก เอามาแล็ปอาหารไว้ทุกจาน กันแมลงวันตอมได้ 100 % เลย
สำหรับสาวๆคนไหนเริ่มที่จะเป็นแม่งาน คุณแม่ที่ต้องจัดการทุอย่าง หรือจะเป็นสะใภ้ชาวไทยเชื้อสายจีน ก็ต้องรู้รายละเอียดยิบย่อยแบบนี้ด้วยนะคะ แล้วคุณจะเป็นมือโปรไม่ผิดพลาดในวันสำคัญค่ะ
credit hilight, thairath, jiewfudao, horoscope, gotwogether, blogspot, maxresdefault, iurban, thaitechno, weloveshopping, weloveshopping, lnwfile
Leave a Reply